แหล่งเรียนรู้ » ประวัติวัดสะแล่ง

ประวัติวัดสะแล่ง

9 มีนาคม 2019
490   0

ประวัติวัดสะแล่ง และเมืองลองอีกรูปแบบหนึ่ง

ประวัติวัดสะแล่ง และ เมืองลองอีกรูปแบบหนึ่ง

ประวัติของเมืองลองท่านก็ได้รับทราบไปมากแล้ว  ในแง่มุมต่าง ๆ  ขอขอบคุณผู้เขียนที่มี
วิริยอุตสาหะในการนี้  ที่ได้ค้นคว้าและเขียนไว้ดีพอสมควร  ก็อย่างว่าทุกอย่างจะให้จริง ๑๐๐% นั้นก็ยากอยู่  เพราะเราท่านก็ไม่ได้เกิดร่วมสมัยนั้น ๆ  ที่เก็บมาเขียน  ก็เป็นการเก็บเอามาจาก
หลักฐานที่มีในหนังสือต่าง ๆ ที่ข้าพเจ้าไปค้นคว้ามาบ้าง เก็บเอามาจากมุขปาฐะบ้าง ก็จะโทษ
ใครไม่ได้ทั้งนั้น  เพราะนักประวัติศาสตร์ให้ความสนใจประวัติทางภาคเหนือน้อยไปหน่อย  อาจ
เป็นด้วยเหตุผลในทางการเมืองด้วย  เพราะนักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เป็นคนภาคกลาง  และนักประวัติศาสตร์ก็มีน้อยในสมัยนั้น  ก็เห็นแต่กรมพระยาดำรงราชานุภาพเท่านั้น  ที่เป็นตัวตั้งตัวตี
จริง ๆ ดังที่รู้ ๆ กัน

เมืองลองเป็นเมืองเล็กๆที่อยู่ท่ามกลางหุบเขาและมีเวียงต้าเป็นบริวารเมืองต้าเมืองเดียวนะ  ผามอกนั้นไม่ใช่  เพราะต้าผามอกและเวียงต้าก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน        ถ้าพูดถึงเมืองเล็ก ๆ วัดเล็ก ๆ นั้น  เมื่อก่อนอาจเป็นเมืองและวัดขนาดใหญ่ก็ได้  ดูแต่นครเชียงแสนอันโอฬารซิ    ผลสุดท้ายก็กลายเป็นอำเภอเล็ก ๆ อำเภอหนึ่งเท่านั้นเอง

เมืองลองแม้จะเล็ก  แต่ก็มีวัดวาอารามหลายวัด  ทั้ง ๆ ที่ร้างไป และสร้างขึ้นใหม่    ทั้งนี้ก็เป็น    สัจธรรม  เป็นอนิจลักษณะ  เมืองลองนั้นเป็นเมืองเล็ก และจะว่าเล็กเลยทีเดียวก็จะไม่ถูกนัก  เพราะนัยว่า  เป็นเมืองหน้าด่าน คือ ตอนนั้นชื่อว่า   “เมืองเชียงชื่น”   เมืองเชียงชื่นนั้นก็เป็นที่ถกเถีงกันมากในยุคปัจจุบัน  ว่าน่าจะไม่ใช่เมืองนั้น เมืองนี้  จนผลที่สุดก็ว่า     น่าจะไม่ใช่เมืองลอง  ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ที่ยกมาอ้างกัน ผลที่สุดนักวิชาการ  เอาเป็นว่านักวิชาการก็แล้วกัน  ท่านเลยสรุปว่า  คงเป็น         “เมืองเชลียง” จังหวัดสุโขทัยโน่น  ข้าพเจ้าคิดว่าน่าจะไม่ถูกนัก  เพราะโดยมากอาณาจักรล้านนานั้น  ภาษาพูดภาษาเดียวกันหมด  และอยู่ในเขตอาณาจักรล้านนาเท่านั้น  คือ แถว ๆ ๘ จังหวัดภาคเหนือ   แต่เชลียงนั้นเป็นเมืองลูกหลวงของอาณาจักรสุโขทัยน่าจะไม่ถูกนัก อย่างไรก็ขอฝากให้ผู้รู้ไปพิจารณาดูก็แล้วกัน

แต่ที่สุดเมืองเชียงชื่นก็ถูกแย่งไปเป็นที่เรียบร้อย   เดี๋ยวนี้ไปอยู่สุโขทัย     เพียงแต่คำว่า “ด้ง” คำเดียวเท่านั้น  ที่ยึดถือเป็นหลักในการตัดสิน  อย่างอื่นเป็นเพียงส่วนประกอบ    ก็ไม่เห็นนักวิชาการของ อำเภอลองไปคัดค้านสักคน  ความสำคัญของเมืองเชียงชื่น กับอำเภอลองนั้นมีความสำคัญมาก  เพราะเป็นที่กำเนิดของชื่อบุคคลผู้หนึ่ง คือ “หมื่นด้ง” วีรบุรุษของล้านนาไทย  นักวิชาการก็ให้ความสำคัญน้อยไปหน่อย

ก็ไปหลงติดอยู่ที่ประวัติเมืองลองของวัดศรีดอนคำเสียเป็นส่วนใหญ่  ซึ่งประวัติเมืองลองที่ว่านี้ก็เขียนขึ้นโดย นายบุญชู  ชุ่มเชื้อ  เอาแค่ช้างลายเสือก็เพี้ยนไปแล้ว  ช้างตัวนั้นเป็น
ช้างเผือกมีปานดำ

น่าจะถูกกว่า ผู้เขียนคิดว่าอย่างนั้น  เรื่องนี้ข้าพเจ้าก็พอจะทราบมาบ้าง       เพราะพญาช้างปานเป็นต้นตระกูลฝ่ายมารดาข้าพเจ้าเอง  คือมารดาของข้าพเจ้าถือผีพญาช้างปาน   ประเพณีถือผีมีมาตั้งแต่บรรพกาลโน้นแล้ว  คำว่าถือผีนั้นก็คือตระกูล,นามสกุล,แซ่ นั่นเอง      และบันทึกประวัติตำนานวัด     ศรีดอนคำ  ฉบับจารลงในใบลานที่มีอยู่ในปัจจุบัน  ก็เขียนโดย  พ่อหนานต๊ะ    เมื่อประมาณไม่ถึงร้อยปีมานี่เอง  แต่ก็ยอมรับว่าตำนานนั้นเล่ากันมานานแล้วจริง ๆ ท่านผู้เฒ่าก็เล่า ๆ สืบต่อกันมาตามนั้น

วัดร้างทุกวัดไม่ใช่เพียงแต่ตกสำรวจ คือ ไม่ได้สำรวจเลยว่าอย่างนั้นเถอะ     ยกตัวอย่าง เช่น  วัดบ้านบ่อ ตำบลบ้านปิน  เมื่อพูดถึงวัดบ้านบ่อนั้นวัดบ้านบ่อน่าจะเป็นวัดขนาดใหญ่  มีพระพุทธรูปที่สร้างด้วยปูนขนาดใหญ่  พระธาตุเจดีย์องค์ใหญ่  พระสำริดขนาดต่าง ๆ ที่วัดในอำเภอลองหลายวัดไปอัญเชิญมาไว้วัดของตน ๆ นั้นหลายองค์ เช่น วัดศรีดอนคำ  วัดดอนมูล วัดแม่ลานหนือ ฯลฯ  แต่ก็นั่นก็เป็นเพียงคำบอกเล่าสืบกันมาเป็นมุขปาฐะ  ก็ไม่ได้บันทึกไว้เป็นหลักฐานที่แน่นอน  ที่พูดนี้คือการไปอัญเชิญพระพุทธรูปสำริดมาจากวัดบ้านบ่อนั้น  ได้ไปอัญเชิญมาจริง ๆ แต่ไม่ได้บันทึกเป็นหลักฐานไว้  วัดศรีดอนคำซึ่งขณะนี้ได้ชื่อว่าเป็นวัดใหญ่ที่สุด  พระพุทธรูปสำริดก็ไปเอามาจากวัดบ้านบ่อ  และวัดร้างต่าง ๆ เช่น วัดแม่ลานใต้ทั้งนั้น    เพราะวัดศรีดอนคำเป็นวัดที่สร้างขึ้นมาทีหลังจากสร้างพระธาตุเจดีย์  ซึ่งมีตำนานปรากฏอยู่  แต่การสร้างพระธาตุ(พระธาตุห้วยอ้อ)นั้น  หนังสือประวัติตำนานวัดศรีดอนคำ  ก็เพิ่งสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๑๖๙ ก็สามร้อยกว่าปีเท่านั้นเอง  อันนี้ก็พูดตามตำนานวัดศรีดอนคำที่เขียนโดย นายบุญชู  ชุ่มเชื้อ   ตำนานนั้นเล่ากันมานานแล้วจริง  แต่สร้างวัดศรีดอนคำนั้น  สร้างหลังจากการสร้างพระธาตุวัดศรีดอนคำ    พูดถึงการไปอัญเชิญเอาพระพุทธรูปสำริด และพระแก้ว พระทองฯ นั้น  มีการแย่งกันจริง  คือพระครูจันทรังสี และพระปลัดอินทวิชัย  ได้มีวิวาทะกัน  ร้อนถึงพระครูนันทา  เจ้าคณะแขวงเมืองลอง  ซึ่งสถิตอยู่ ณ วัดพระธาตุขวยปู  ต้องมาไกล่เกลี่ยในครั้งนั้น

การสร้างพระธาตุเจดีย์ในสมัยก่อน  คนโบราณจะสร้างตามตำนาน  คือ  จะมีเรื่องเล่ามาก่อนว่า  ดอยแห่งนี้มีตำนานว่า  พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับ หรือมีบุคคลสำคัญ เจ้านายหรือพระสงฆ์    พระมหาเถระองค์ใดองค์หนึ่งได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาประดิษฐานตรงยอดดอยแห่งนี้  ตรงนั้นตรงนี้ เป็นต้น  ก็เล่าสืบ ๆ กันมา  ในบางแห่งก็เล่ากันมาหลายชั่วคน  แล้วคนสมัยต่อมาก็มาสร้างพระธาตุเจดีย์ขึ้นตรงนั้น   อย่างนี้แทบทุกองค์ในการสร้างพระเจดีย์  ทั้ง ๆ ที่ตรงนั้นโล่งเลี่ยนเตียนไม่มีอะไรเป็นสัญลักษณ์ให้เห็น    บางตำนานก็บอกว่า  เมื่อบรรจุแล้วก็ได้ปลูกต้นไม้นั้นต้นไม้นี้ไว้ เป็นต้น  ตรงนั้นก็กล่าวกันไป

พระธาตุปูตั้บ ก็มีตำนานเล่าไว้ตอนหนึ่ง  คือมีตำนานแทรกในตำนานพระธาตุแหลมลี่   และในกาลต่อมาครูบาศรีวิชัยได้แนะนำให้แม่หน่อแก้ว ไชยแก้ว ไปสร้างเจดีย์   คือให้ไปเป็นต้นเค้าสร้างพระธาตุปูตั๊บ  ก็สร้างตรงยอดดอยที่องค์พระธาตุตั้งอยู่ปัจจุบัน    เรื่องนี้โยมมารดาของข้าพเจ้าเล่าให้ฟังว่า  สร้างตามตำนานตามที่ครูบาศรีวิชัยท่านแนะนำให้สร้าง ณ สถานที่ตรงนั้น ไม่มีอะไรเป็นสัญลักษณ์  ก็เป็นยอดดอยธรรมดา ๆ  โยมมารดา เพื่อน ๆ และญาติผู้ใหญ่ไปช่วยกันขนทรายจากแม่น้ำยมขึ้นไปร่วมบุญกับแม่หน่อแก้ว  เพราะเป็นญาติกัน  และพวกเด็ก ๆ เพื่อน ๆ ของโยมมารดาของข้าพเจ้า  ตลอดจนผู้เฒ่าผู้แก่ ญาติโยมที่ไปช่วยสร้างในตอนนั้น    ก็ทำด้วยความเลื่อมใส  ซึ่งมีพระปลัดอินต๊ะวิชัย  เจ้าอาวาสวัดดอนมูล  เป็นประธานฝ่ายสงฆ์   (ประธานการก่อสร้าง)  พระครูจันทรังสี  เจ้าคณะแขวงเมืองลอง  เป็นประธานสงฆ์     การก่อสร้างสร้างตรงกับปี พ.ศ.  ๒๔๖๑ (จ.ศ. ๑๒๘๐) ก็ไม่นานมานี้เอง  ภายหลังพระธาตุล้มพังทลายลง  ข้าพเจ้า พระครูสีลสังวราภิรัต และพระทองแดง อายุวฑฺฒโก  ก็ได้บูรณปฏิสังขรณ์ให้คงสภาพเดิม   ในปี  พ.ศ. ๒๕๑๔ ได้ขุดลงไปตรงกลางองค์พระเจดีย์เพื่อจะบรรจุวัตถุมงคล     ขุดลึกลงไปพอสมควร  ก็ไม่เห็นมีอะไรตามที่กล่าวอ้างในตำนาน  ที่ขุดลงไปนั้นก็เป็นดินเดิมไม่มีร่องรอยว่าเคยขุด    เพื่อฝังอะไรมาก่อน

พระธาตุพระกัปป์ที่บ้านแม่สิน อำเภอวังชิ้นก็เหมือนกัน  ก็สร้างตำนานบนยอดดอยแห่งนั้น  ข้าพเจ้าและคณะสงฆ์ได้ร่วมกันสร้าง  ก็ไม่เห็นมีอะไรใต้ดินแห่งนั้น       ก็เรียกว่าสร้างตำนานดังโบราณบัณฑิตที่สร้างมา  ก็เจริญรอยตาม

ที่เล่าให้ฟังนี้ก็ชี้ให้เห็นว่า  สถานที่สำคัญต่าง ๆ ทั่วประเทศนั้น  ส่วนมากก็มีตำนาน    สร้างตามตำนาน สร้างตามคำบอกเล่าทั้งสิ้น  แต่วัดสะแล่งนั้นประวัติตำนานตกหล่นไปบ้าง     ไม่โดดเด่นเหมือนที่อื่น  แต่ก็มีทรากปรักหักพัง อิฐปูน พระเครื่องอยู่เต็มไปหมด     ในสมัยที่ข้าพเจ้าเข้าไปบูรณะเมื่อ พ.ศ ๒๕๐๖  พ่อเฒ่าหนานทอง  อรินแปง เล่าว่า  ตรงเจดีย์ที่พังลงมานั้น  เป็นเจดีย์ห้ายอด  ท่านเคยมาวิ่งเล่นสมัยเป็นเด็ก  เห็นสภาพองค์เจดีย์  ยังคงสภาพดีอยู่ แม้จะปรักพังแล้วก็ตาม  พ่อเฒ่าหนานทอง  อรินแปง ขณะนี้ (พ.ศ. ๒๕๕๔) ท่านยังมีชีวิตอยู่    พ่อเฒ่าหนานทองขณะนี้ อายุ ๙๘ ปี  หลายปีก่อนเคยเป็นมัคนายกวัดนาหลวง ท่านเล่าให้ฟังหลายเรื่อง   เกี่ยวกับวัดสะแล่ง  ดังที่ข้าพเจ้านำมาเขียนเป็นตำนานวัดสะแล่งในบางตอน  และตอนอื่น ๆ ก็เขียนจากคำบอกเล่าของท่านอื่น ๆ  เช่น พ่อเฒ่า หนานคือ พ่อเฒ่าหนานก่ำ เป็นต้น

ที่ตัดสินใจเขียนเรื่องนี้ขึ้นก็เป็นการเสี่ยง  คือเสี่ยงที่คนที่เลื่อมใสจะต่อว่าให้เหมือนกัน  แต่อย่างไรก็จำเป็นต้องเขียนให้ทราบบ้างให้เป็นแง่คิด  เพราะอย่างที่เรียนให้ทราบนั้นว่า      สมัยนี้ต้องพูดความจริง  แม้จะถูกต่อว่าก็ต้องยอม อย่างเช่นประวัติการสร้างพระแก้วมรกตก็เหมือนกัน  ก็เขียนขึ้นเป็นเล่มขนาดหนา  และเขียนขึ้นหลายเล่ม อาจารย์มหาวิทยาลัย          และพ่อจันทร์ ช่างหล่อพระเชียงใหม่ท่านว่า  พระแก้วมรกตเป็นศิลปะเชียงใหม่เรียกว่า “เชียงแสนเชียงใหม่” แน่นอน คงไม่ได้สร้างโดยพระนาคเสน ในอินเดีย  เพราะไม่ใช่ศิลปะอินเดีย   พระพุทธสิหิงค์กรุงเทพฯก็เหมือนกัน  สร้างสมัยอยุธยา  อันนี้ท่านผู้รู้ท่านอ่านตามพุทธศิลป์  แต่ท่านผู้รู้ทางศาสนาก็ว่าห้ามวิจารณ์  อันนี้ก็สุดแต่ใครจะคิด  ก็เล่าให้ฟัง  ท่านผู้ฟังก็ให้ไปศึกษาเอาเองก็แล้วกัน

ก็ถกเถียงกันไป  รศ.เสนอ  นิลเดช ว่าตามหลักฐาน  พระนางจามเทวีไม่ได้เสด็จผ่านเมืองลอง  หรือเสด็จมาเมืองลองเลย  เพราะพระองค์เสด็จไปตามทางชลมารคตามสายน้ำแม่ปิง  ตอนเสด็จขึ้นไปนั่งเมืองลำพูน(เมืองหริภุญชัย)  แล้วไหนจะหลงเข้าห้วยอ้อได้     และห้วยอ้อเป็นลำห้วยเล็ก ๆ จะเอาเรือพระที่นั่งขนาดใหญ่ลอยลำเข้ามาได้อย่างไร  นั่นก็เป็นเรื่องเล่าทั้งนั้น  อันนี้ข้าพเจ้าว่าตามความเป็นจริง  ตามตำนานยังพูดถึงว่าเสด็จโดยเรือสำเภาด้วยซ้ำไป

จะว่าไปแล้ว แม้แต่พระบรมสารีริกธาตุ  ที่มีอยู่ทั่วไปในประเทศไทยและในโลกก็เป็นของ     พระพุทธเจ้าจริง  คือจริงโดยสมมติ  พระพุทธรูปก็เป็นพระพุทธรูปจริง    คือจริงโดยสมมติทั้งนั้น  เถียงกันไปทำไมก็ไม่รู้  ไม่เห็นจะมีประโยชน์ เราหันหน้ากันมาค้นคว้าเอาใกล้เคียงก็ดีถมไปแล้ว  ในยุคนี้เป็นยุคที่เคารพความจริง  เพราะเราอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง

มีคนกล่าวหาข้าพเจ้าว่า  ในการก่อสร้างวัดสะแล่งนั้น       ทางวัดสะแล่งไปขนเอาอิฐเก่าจากวัดไฮสร้อย, วัดพระธาตุแหลมลี่ มาสร้างวัดนั้น  ไม่จริงเลย   ผู้เขียน (เจ้าอาวาส) ไปเก็บจากเเมืองเก่า  ซึ่งอยู่ในเขตบ้าน ไฮสร้อย  ซึ่งเอามาจริงแต่เอามาไม่ถึง ๒๐ ก้อน  พระธาตุแหลมลี่นั้น
ไม่ได้เอามาสักก้อน  อิฐเก่าที่มีอยู่ในวัดนั้น  ส่วนมากก็เป็นของวัดสะแล่งของเดิม   และไปซื้อมาจากวัดบ้านถิ่น ตำบลบ้านถิ่น อำเภอเมือง จังหวัดแพร่  เพราะทางวัดขายให้  ที่วัดบ้านถิ่นนี้มีมากพอสมควร  เพราะรื้อกำแพงเก่าทิ้งเพื่อสร้างขึ้นแทนใหม่  ทางวัดบ้านถิ่นติดต่อกับทางวัดสะแล่งเอง  โดยติดต่อผ่าน อ.วิทยา  สุริยะ  นอกนั้นก็ไม่ได้เอามาจากที่ไหนอีก        เพราะข้าพเจ้าชอบสะสมของเก่า  ที่ใช้อิฐเก่ามา สร้างวัดก็อยากให้วัดดูดี  จึงมาทำเลียนแบบของเก่า  ตามที่ได้ไปดูวัดเก่า ๆ ที่เขาอนุรักษ์ไว้   อุทยานประวัติศาสตร์หลายแห่งก็ล้วนแต่ซ่อมแซมต่อเติมของเก่าทั้งนั้น  ดูแต่ปราสาทหินต่าง ๆ ในประเทศไทยก็แล้วกัน  เช่นปราสาทหินเขาพนมรุ้ง  จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นต้น  ของเดิมพังไปหมดแล้ว หรือทรุดโทรมไปมาก  แต่ที่เห็นนั้นเขาซ่อมแซมทั้งนั้น    แม้แต่ปราสาทหินนครวัด นครธม ในประเทศกัมพูชาก็ซ่อมแซมเหมือนกัน

ที่นำเอาอิฐเก่ามามาซ่อมแซมสร้างเสริมนั้น  ก็อยากจะให้วัดสะแล่ง      เป็นแหล่งท่องเที่ยวเท่านั้น  เพราะวัดสะแล่งตอนนั้นมีสภาพเป็นวัดร้างที่ทรุดโทรมหนัก      ทางวัดได้ไปเก็บรวบรวมโบราณวัตถุจากที่ต่าง ๆ มาไว้เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา เพื่อการเรียนรู้     ซึ่งแทบจะพูดได้ว่ามีอยู่แห่งเดียวและวัดเดียวในอำเภอลองก็ว่าได้  ที่มีโบราณวัตถุอันล้ำค่า       ซึ่งถ้าจะนับเป็นค่า เป็นราคาแล้ว  ก็ไม่สามารถจะตีค่าเป็นจำนวนเงินได้เลย      ซึ่งการนี้ไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดินเลย  ผู้ที่กล่าวหาว่า   วัฒนธรรมจังหวัดทุ่มงบลงวัดสะแล่งเป็นจำนวนมหาศาลนั้น       ก็มิได้เป็นความจริงอีก  ที่วัฒนธรรมจัดงบไปแต่ละครั้งก็ไม่มาก  และเป็นค่าเบี้ยประชุม และนำกรรมการไปท่องเที่ยวดูงานเท่านั้น  งาน   ต่าง ๆ ที่วัฒนธรรมให้ก็เห็นแต่กระดาษเท่านั้น  ที่เป็นหลักฐานอยู่

งบประมาณที่ปรับปรุงบ่อน้ำร้อนนั้น  ก็นับว่ามากพอสมควรสำหรับอำเภอลอง   นั่นก็เป็นเงินของการท่องเที่ยว  ซึ่งสมัยนั้น นายสมศักดิ์  เทพสุทิน  เป็นรัฐมนตรี  จัดงบไปให้  ก็ผ่านขั้นตอนมากมาย  ด้วยทางรัฐบาลสมัยนั้น  ได้มองเห็นความสำคัญของบ่อน้ำแร่มากกว่าวัดสะแล่ง   และมองว่าบ่อน้ำร้อนจะเป็นจุดท่องเที่ยวได้  จึงจัดงบฯมาลง

ที่ว่านายกฯทักษิณจะจัดงบประมาณให้ ๒๐ ล้านก็เป็นเพียงตัวเลข  ก็เกิดปฏิวัติรัฐประหารเสียก่อน  ก็ไม่ได้งบสักบาท  ที่ว่าเป็นเพียงตัวเลขนั้นก็คือตัดเอาเลข ๒ ออกเหลือให้เพียงเลข ๐ เจ็ดตัวเท่านั้นเอง  แล้วจะมีประโยชน์อะไรกับเลข ๐

ประวัติวัดสะแล่ง ส่วนมากได้มาจากหลวงปู่พระครูอดุลย์ธรรมรังสี  อดีตเจ้าอาวาสวัด        นาหลวง  และผู้เฒ่าผู้แก่แถว ๆ ใกล้วัดสะแล่งนั่นเอง  ดังที่กล่าวไว้  คือ วัดตกสำรวจ   ตำนานวัด    สะแล่งก็เหลือเพียงใบลานไม่กี่แผ่น  ก็เป็นหลักฐานประวัติตำนานของวัดนิดหน่อย       แต่ข้าพเจ้าได้นำมาขยายความให้ยาวไปอีกหน่อย ก็เท่านั้น

ที่ข้าพเจ้าผู้เขียนได้เขียนตำนานวัดสะแล่งขึ้นนั้น    ก็เขียนอิงประวัติตำนานให้เกี่ยวโยงกับอำเภอลองบ้าง  เพราะวัดสะแล่งอยู่ในเขตอำเภอลอง      ท่านผู้วิจารณ์ออกเว็บไซในอินเตอร์เน็ตนั้น  จะใจดำไปกระมัง  ที่ไม่ให้วัดสะแล่งกล่าวถึงอำเภอลองเลย  จริง ๆ แล้วผู้เขียนก็ไม่อุตริ หรือนั่งทางในเขียน  คือเขียนตามความนึกคิด  และหลักฐานโบราณวัตถุที่ปรากฏในวัด  และทางราชการก็ขอร้องให้เขียน  เพื่อจะได้รู้เพียงคร่าว ๆ  เพื่อการศึกษาเรียนรู้           และส่งให้กรมการศาสนาในสมัยนั้น  อันเป็นนโยบายของกรมฯ

ข้าพเจ้าไม่ใช่นักวิชาการที่มีความรู้ในทางนี้  จึงไม่บังอาจจะสะสางชำระประวัติเมืองลอง  ที่เขียนนั้นก็เขียนเฉพาะประวัติตำนานวัดสะแล่ง  ไม่ได้เขียนประวัติเมืองลองก็ขอให้ผู้ศึกษาและผู้อ่าน  ให้อ่านตำนานวัดสะแล่งก็พอ  และก็ขอให้อ่านแล้วก็คิดว่าได้อ่านนิทานก็แล้วกัน  เหมือนกับเราไปซื้อตำนานของวัดต่าง ๆ ทางภาคเหนือ  ที่มีอยู่ก็แล้วกัน  บางทีเราอ่านแล้วก็หัวเราะไป  เอาเป็นว่าอ่านนิยายก็แล้วกัน  อย่าได้คิดมาก

วันนี้ก็เห็นจะชี้แจงเพียงเท่านี้  ที่เล่าให้ฟังนี้ก็เล่าโดยอ้างตำนาน  ตำนานก็คือตำนาน  มิใช่ประวัติศาสตร์
แหลงที่มา  http://www.watsalaeng.net/01.1.htm